วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ต้นกระจูดและผลิตภัณฑ์ต่างๆจากกระจูด

“กระจูด” และ
ผลิตภัณฑ์ต่างๆจาก “กระจูด"


ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ “กระจูด”

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepironia articulata (Retz.) Domin

วงศ์ : Cyperaceae

ชื่อสามัญ : -

ชื่ออื่น
:
จูด (ภาคใต้) วีจุ๊ (มลายู-นราธิวาส)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ลักษณะลำต้นกลม ในกลวง มีเยื่ออ่อนหยุ่นคั่นเป็นข้อๆ สีเขียวอ่อน มีขนาดตั้งแต่เท่าก้านไม้ขีดไฟ จนถึงเท่าแท่งดินสอดำ สูงประมาณ 1-2 เมตร เป็นพืชที่ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขัง ตามริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่า “พรุ” มีขึ้นมากที่สุดในจังหวัดนราธิวาส นอกนั้นกระจัดกระจายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา พัทลุง ปัตตานี และตราด




ประโยชน์ : ต้นกระจูดมี 2 ชนิด คือ จูดใหญ่ และจูดหนู จูดใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนจูดหนูมีลำต้นเล็กและสั้น ความเหนียวน้อยกว่าจูดใหญ่ โดยทั่วไปราษฎรทางภาคใต้ใช้กระจูดในการสานเสื่อ ทำใบเรือ ทำเชือกผูดมัด และทำกระสอบบรรจสินค้าเกษตรและสิ่งของอื่น ๆ


กรรมวิธี/ขั้นตอนการเตรียมกระจูด
ก่อนที่จะนำเส้นกระจูดไปสานเสื่อ เพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้น ต้องมีการเตรียมกระจูด ซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้


1.
ถอนกระจูดที่โตได้ขนาดใช้งานได้ คือ ต้นยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร แบ่งแยกกระจูดออก
เป็นกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีความยาวพอ ๆ กัน นำมาตัดหัวตัดปลายให้เรียบร้อย



2.นำกระจูดไปคลุกกับดินโคลนที่เตรียมไว้ (ดินโคลนดังกล่าว เป็นดินโคลนสีขาวขุ่น ,
เนื้อดินละเอียด) สาเหตุที่ต้องเคลือบผิวกระจูดด้วยดินโคลนเป็นวิธีการแบบพื้นบ้าน
เพื่อถนอมกระจูดให้คงทนได้นาน ป้องกันมิให้เส้นกระจูดแตก



3.หลังจากนั้นก็นำกระจูดที่คลุกดินแล้วไปผึ่งแดดสัก 1 – 2 วัน โดยผึ่งบนลานดิน
ที่สะอาด หรือบนพื้นกระดานจนกว่าจะแห้งสนิท หากไม่แห้งอาจจะมีราขึ้นได้


4.นำกระจูดที่ตากแห้งแล้ว ทำการลอกกาบที่บริเวณโคนลำต้นออกให้หมด จากนั้น
ก็ทำการรวบกระจูดทำเป็นมัดหรือเป็นกำ แต่ละมัด/กำ จะมีความยาวเท่า ๆ กัน
กระจูด 1 มัด/กำ จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 6 นิ้ว (กระจูด 1 มัด/กำ
สามารถสานเสื่อขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 2 เมตร ได้ 1 ผืน


5.ทำการรีดลำกระจูดให้แบนเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น โดยใช้เครื่องบดลูกกลิ้ง
( “ลูกกลิ้ง” มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ทำด้วยคอนกรีตมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 – 16
นิ้ว ยาวประมาณ 3 ฟุต) เมื่อรีดกระจูดเรียบพอสมควรแล้ว ก็ทำการตำด้วยสากไม้ โดยใช้คนตำ
2 คน หันหน้าเข้าหากัน คนหนึ่งเดินหน้า และอีกคนหนึ่งถอยหลังสลับกันตำหลังจากตำด้านหนึ่ง
ไปแล้ว 1 – 2 เที่ยว จึงพลิกกลับอีกด้านหนึ่งทำการตำจนทั่วตลอดทั้งเส้นจนกว่าจะได้เส้นกระจูด
ที่แบนเรียบสม่ำเสมอทุกด้าน สามารถนำไปทำการจักสานได้






การย้อมสีกระจูด
ประเภทสีย้อมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการย้อมสีกระจูด คือ



สีเบสิค: เนื่องจากการดูดติดเป็นไปได้ง่าย และรวดเร็วมากเป็นพิเศษ ลักษณะเด่นพิเศษของสีย้อมประเภทนี้ ก็คือ มีความสดใสและความเข้มของสีเด่นชัดมาก ความคงทนต่อแสงแดดค่อนข้างดี แต่มีข้อเสียตรงที่มีความคงทนต่อการซักฟอกและการขัดถูค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระจูดซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ในวงการแคบ ๆ เฉพาะอย่างเท่านั้น


สีเบสิค: นอกจากจะใช้ย้อมสีกระจูดได้ผลดีแล้ว ยังสามารถปรับใช้เพื่อการย้อมสีวัสดุชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ในวงการสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านอื่น ๆ ได้ผลดีอีกด้วย เช่น ป่าน ปอ ย่านลิเพา ผักตบชวา ปาหนัน ไม้ไผ่ และใบลาน เป็นต้น


ผลิตภัณฑ์ต่างๆจาก “กระจูด
ผลิตภัณฑ์กระจูด เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งของภาคใต้ รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่รู้จักทั่วไปคือ “เสื่อกระจูด” หรือ “เสื่อจูด” ภาษาพื้นเมืองภาคใต้เรียก “สาดจูด” การสานเสื่อจูดถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงสืบทอดจากบรรพบุรุษมาแต่ครั้งอดีตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังสานเป็นผลิตภัณฑ์กระสอบสำหรับบรรจุสิ่งของ เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก น้ำตาล เกลือ ฯลฯ เสื่อจูดที่มีความสวยงามคือ เสื่อจูดประเภทลวดลายสีสันต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของเสื่อภาคใต้ซึ่งได้มีการนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการผลิตมากขึ้น เพื่อสืบทอดงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและเป็นอาชีพเสริม
ผลิตภัณฑ์ต่างๆจาก “กระจูด”

รูปแบบลายสานเสื่อจูดพัฒนามาจากลวดลายธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และรูปสัตว์ต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

- ลายสานเสื่อจูดของชาวไทยมุสลิม
- ลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธ


ลายสานเสื่อจูดของชาวไทยมุสลิม : มีลักษณะลวดลายสวยงามสลับซับซ้อน ดัดแปลงมาจากลวดลายไทยในธรรมชาติ เอกลักษณ์พิเศษของลายสานชนิดนี้คือ ช่างสานชาวไทยมุสลิมจะไม่สานรูปเหมือนจริง เช่น รูปคน หรือรูปสัตว์ เนื่องจากข้อห้ามตามคตินิยมของศาสนาอิสลาม ลายสานจึงมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ และสามารถพัฒนาลวดลายได้หลายรูปแบบ มีชื่อเรียกต่างกันตามภาษาพื้นเมืองท้องถิ่น แหล่งสานเสื่อจูดประเภทนี้ได้แก่ บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง และเขตนิคมอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

ลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธ :มีลักษณะลวดลายสวยงามเช่นเดียวกัน พัฒนามาจากลายไทย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดอกจันทน์ ลายก้านต่อดอก ลายดาวล้อมเดือน เป็นต้น ลายสานบางประเภทมีลักษณะเหมือนกัน ลายสานของชาวไทยมุสลิมแต่ชื่อเรียกต่างกัน ลักษณะลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธนี้ไม่จำกัดรูปแบบลวดลายของการสาน โดยจะสานเลียนแบบรูปเหมือนจริงเป็นรูปคน รูปสัตว์ก็ได้ เพราะไม่มีข้อห้ามทางพุทธศาสนา แหล่งสานเสื่อจูดประเภทนี้ที่ทำกันมากอยู่ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และเขตตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช


ที่มา
http://www.phatlung.com/product/kajud.php

http://www.phatlung.com/product/kajud.phpculture.nstru.ac.th/~culturedb/culture.php?
cultureCode=1103&cultureTitleT=การจักสาน...

ต้นกระจูด

ต้นกระจูด